กิจกรรมอ่านสารสันติภาพ และสงบนิ่งร่วมจิตอธิษฐาน 1 นาที เนื่องในวันสันติภาพสากล 2566

วันที่ 21 กันยายน 2566 นายวินัย ยุพจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะครู คณะผู้ปกครองจิตอาสา และนักเรียน จัดกิจกรรมอ่านสารสันติภาพ และสงบนิ่งร่วมจิตอธิษฐาน 1 นาที เนื่องในวันสันติภาพสากล 2566

วันสันติภาพโลก คือวันใด
วันสันติภาพโลก (World Peace Day หรือ International Day of Peace) ตรงกับวันที่ 21 กันยายน ของทุกปี เป็นวันที่ต้องการให้คนทั่วโลกตระหนักถึงการงดใช้ความรุนแรง ทั้งต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา เกิดสงคราม ความรุนแรง นำไปสู่ความสูญเสียนับครั้งไม่ถ้วน แม้แต่ในปัจจุบันเอง ก็ยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ปัญหาระดับครอบครัว ไปจนถึงปัญหาระหว่างประเทศ การใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ ร่วมกัน จึงเป็นหนทางที่จะสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นบนโลก

ที่มาวันสันติภาพโลก มีประวัติอย่างไร
แต่เดิมวันสันติภาพโลกจะตรงกับทุกวันอังคารที่ 3 ของเดือนกันยายน เริ่มประกาศใช้เป็นครั้งแรกโดยคณะกรรมการสหประชาชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1981 ซึ่งการกำหนดให้มีวันสันติภาพในครั้งนั้น ก็เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับ “สันติภาพ” อันหมายถึง ภาวะสันติสงบสุข

ต่อมาในปี ค.ศ. 2001 สหประชาชาติมีมติใหม่อีกครั้ง โดยกำหนดให้วันสันติภาพโลก ตรงกับวันที่ 21 กันยายน ของทุกปี ถือเป็นวันสันติภาพสากลของโลก ที่ต้องยุติการสู้รบ ลดใช้ความรุนแรง รวมถึงหยุดสู้รบในสงครามตลอดทั้งวัน

นับจากนั้นเป็นต้นมา วาระเรื่องสันติภาพก็กลายเป็นสิ่งที่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ จะต้องร่วมกันรณรงค์ และร่วมมือกันส่งเสริมสันติภาพทั่วโลก ยุติความรุนแรงไม่เพียงแต่ในสงครามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหยุดการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก และผู้หญิง เพื่อนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมสันติภาพให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาคมโลก

จุดมุ่งหมาย 6 ข้อของวันสันติภาพโลก

  1. เคารพต่อชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่ลำเอียงแบ่งชนชั้นวรรณะ
  2. ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเยาวชน
  3. ร่วมสร้างสังคมแบ่งปันอย่างมีน้ำใจ เพื่อลดการแบ่งแยก การกดขี่ทางการเมือง และเศรษฐกิจ
  4. เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
  5. ดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบ และเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ
  6. สร้างความสมานฉันท์ เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย ให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะผู้หญิง
ออกแบบโดย dsite.in.th